การทำอิ๊กซี่ (ICSI)

การทำอิ๊กซี่ ICSI :Intracytoplasmic Sperm Injection
"อิ๊กซี่" ชื่อนี้คล้ายกับเป็นชื่อเล่นของเด็กเล็ก เพราะเป็นชื่อที่ไพเราะเสนาะหู ฟังดูน่ารัก สั้นและจำได้ง่าย
ความจริง "อิ๊กซี่" (ICSI) เป็นชื่อที่ย่อมาจากคำว่า Intracytoplasmic Sperm Injection (คำแปล คือการฉีดหรือเจาะใส่ "ตัวอสุจิ" เข้าไปในเนื้อของเซลล์ "ไข่")
คำถาม คือว่าทำไมนักวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงคิดใช้วิธีพิสดารเช่นนี้ ในการรักษาคนไข้มีลูกยาก
ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่า สาเหตุของภาวะมีบุตรยากที่เกิดจากผู้ชายแต่เดิมมานั้นยังให้การรักษาได้ผลน้อยมาก ไม่ว่าจะทำ "กิ๊ฟ" หรือ "เด็กหลอดแก้ว" วิธีดั้งเดิมก็ตาม
การแก้ปัญหาภาวะมีบุตรยากจากฝ่ายชาย โดยใช้เทคโนโลยีวิธีใหม่ล่าสุด "อิ๊กซี่" นี่ช่วยแก้ปัญหาได้มาก จนแทบหมดไปเลยทีเดียว เพราะสามารถแก้ปัญหาได้ทั้งกรณีจำนวน "เชื้ออสุจิ" น้อย, การเคลื่อนไหวของ "ตัวอสุจิ" ไม่ดี หรือแม้หยุดนิ่งอยู่กับที่ รวมทั้งรูปร่างของ "ตัวอสุจิ" พิกลพิการ ผิดรูป ผิดร่าง ขอเพียงแต่ให้มีชีวิตอยู่เท่านั้น
ยิ่งกว่านั้นในกรณีไม่มี "เชื้ออสุจิ" ในน้ำอสุจิที่หลั่งออกมา หากสามารถเข้าไปควานหา "ตัวอสุจิ" ที่อัณฑะได้ก็ยังรักษาให้คู่สามีภรรยามีลูกสมบูรณ์ได้ เหมือนคนปกติโดยทั่วไป
เมื่อแรกศักราชของการรักษา โดยใช้วิธีเจาะ "ไข่" ใส่ "ตัวอสุจิ" เข้าไป (Micromanipulation อ่านว่า "ไมโครแมนิพิวเลชั่น") ยังไม่ค่อยมีใครกล้าใช้ "ตัวอ่อน" ทีเกิดจากการเจาะใส่ "ตัวอสุจิ" เข้าไปในเนื้อไข่โดยตรง (ICSI) คงเริ่มต้นรักษาด้วยการใช้ "ตัวอ่อน" ที่เกิดจากการเจาะเฉพาะเปลือกไข่แล้วใส่ "เชื้ออสุจิ" ไว้รอบๆ ให้ว่ายเข้าไปปฏิสนธิเอง ที่เรียกว่า Zona Drilling Gordon & Talansky ทำวิจัยในหนูเพื่อแก้ปัญหา "เชื้ออ่อน" ในคนได้สำเร็จ และรายงานไว้ในปี ค.ศ.1986 (พ.ศ.2529) วิธีนี้ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงกรรมวิธีเจาะเปลือกไข่จากการใช้กรดเป็นหลอดแก้วเล็กๆ ปลายแหลมและเรียกใหม่ว่า "PZD" (Partial Zona Dissection or Zona Cutting) ซึ่ง Malter & Cohen ทำสำเร็จเป็นครั้งแรกและรายงานไว้ในปี ค.ศ.1989 (พ.ศ.2532)
ต่อมามีการพัฒนาวิธีการทำโดยเจาะเปลือกไข่ แล้วใส่ "ตัวอสุจิ" เข้าไปไว้ข้างใต้เปลือกไข่ แต่ไม่ได้ใส่ทะลุเข้าไปในเนื้อของ "ไข่" เรียกว่า "ซูซี่" (SUZI ย่อมาจาก Subzonal Sperm Injection) Ng และ คณะทำสำเร็จและได้ลูก "ซุซี่" คนแรกเมื่อปี ค.ศ.1990 (พ.ศ.2533)
แต่ปัญหาที่เกิดตามมาไม่ว่าจะเป็นวิธี "PZD" หรือ "SUZI" คือมี "ตัวอ่อน" จำนวนหนึ่งพอสมควรทีเดียว ที่มีการปฏิสนธิผิดปกติ คือมีอสุจิเขาไปปฏิสนธิมากกว่า 1 ตัวเนื่องจากวิธีการดังกล่าวจะใส่ "ตัวอสุจิ" เข้าไปในตำแหน่งที่ต้องการหลายตัว (ประมาณ 5 ตัวต่อไข่ 1 ใบ) โดยหวังว่าจะมี "อสุจิ" ว่ายเข้าไปปฏิสนธิเองเพียงตัวเดียว "ตัวอ่อน" ที่ผิดปกติเหล่านี้ห้ามนำกลับเข้าไปสู่ร่างกายคนไข้สตรีเพราะหากตั้งครรภ์ขึ้นก็จะไม่ได้ทารกตามต้องการ แต่จะได้ทารกที่ผิดปกติและแท้งออกมาในที่สุด
เมื่อเป็นเช่นนี้ในปี ค.ศ.1992 (พ.ศ.2535) Palermo และคณะได้ทำการทดลองค้นคว้าจนสามารถแก้ปัญหานี้ได้สำเร็จและได้ลูก "อิ๊กซี่" คนแรก ซึ่งมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงปราศจากความพิการใดๆ หลังจากนั้นเทคโนโลยี "อิ๊กซี่" นี้ ได้แพร่ระบาดไปยังทั่วทุกมุมโลกอย่างรวดเร็ว
สำหรับในประเทศไทยลูก "อิ๊กซี่" คนแรก ได้ถือกำเนิดขึ้นมาเมื่อปี ค.ศ.1995 (พ.ศ.2538) ที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ และต่อมาก็มีหนูน้อย "อิ๊กซี่" เกิดตามมาอีกเป็นจำนวนมากจากสถาบันต่างๆ
ปัจจุบันนี้เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า "อิ๊กซี่" แก้ปัญหา "เชื้ออ่อนมาก" ในผู้ชายได้เป็นอย่างดี จนไม่มีใครหวนกลับไปใช้วิธี "SUZI" หรือ "PZD" อีกต่อไปแล้ว

หลักเกณฑ์หรือข้อบ่งชี้ ที่จะใช้รักษาด้วยวิธีนี้คือ
1. "เชื้ออสุจิ" มีความผิดปกติอย่างมาก ได้แก่
1.1 จำนวน "ตัวอสุจิ" ที่ว่าหรือเคลื่อนไหวไปข้างหน้าอย่างปกติได้มีน้อยกว่า 500,000 ตัว ในน้ำอสุจิที่หลั่งออกมาแต่ละครั้ง
1.2 จำนวน "ตัวอสุจิ" ที่ได้จากการตรวจมีน้อยกว่า 2 ล้านตัว ต่อมิลลิลิตร
1.3 การเคลื่อนไหวของ "เชื้ออสุจิ" ไม่มีเลย
1.4 รูปร่างของ "ตัวอสุจิ" ผิดปกติทั้งหมด
2. มีความผิดปกติเรื่องภูมิต้านทาน เช่น มีภาวะภูมิต้านทานต่อต้าน "ตัวอสุจิ"
3. มีโรคที่เป็นปัญหาทำให้ "เชื้ออสุจิ" ไม่เคลื่อนไหวไปข้างหน้าเนื่องจากมีความผิดปกติที่ส่วนหาง
4. ภาวะผิดปกติที่มีการหลั่งของ "น้ำอสุจิ" แล้ว "เชื้ออสุจิ" ไหลย้อนกลับเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ
5. เคยรักษาด้วยวิธีการทำ "เด็กหลอดแก้ว" (Conventional IVF) หรือทำ "เด็กหลอดแก้ว" ร่วมกับ "PZD" หรือ "SUZI" มาก่อนแล้วไม่มีการปฏิสนธิเกิดขึ้นจากสถาบันใดก็ตาม
ขั้นตอนการทำ "อิ๊กซี่"
1. การคัดเลือก คู่สามีภรรยาที่จะมารักษาต้องมี "ข้อบ่งชี้" ดังกล่าวข้างต้นเท่านั้นจึงจะคุ้มค่ากับการทำ
2. การกระตุ้น "ไข่" โดยใช้ฮอร์โมนหรือยาฉีดกระตุ้นเพื่อให้ได้ "ไข่" หลายๆ ใบ เราต้องติดตามดูการเจริญเติบโตของ "ไข่" เป็นระยะๆ ด้วยการดูอัลตราซาวนด์และเจาะเลือดตรวจฮอร์โมนที่ "ไข่" สร้างขึ้น เมื่อได้ไข่ที่มีขนาดเหมาะสมและฮอร์โมนอยู่ในเกณฑ์พอเหมาะ เราจะกระตุ้นให้ "ไข่" เปลี่ยนแปลงคุณสมบัติภายในครั้งสุดท้ายเพื่อให้เหมาะแก่การปฏิสนธิ แล้วจึงเจาะเก็บ "ไข่" ที่สุกเหล่านั้นออกมา
3. การเก็บ "ไข่" ใช้เข็มยาวที่ทำขึ้นโดยเฉพาะเจาะผ่านผนังช่องคลอด โดยมีอัลตราซาวนด์ช่วยชี้นำการเจาะ "ไข่" ผ่านทางผนังช่องคลอดนี้ทำให้ได้ "ไข่" จำนวนมากถึงร้อยละ 90 ของทั้งหมด
4. การคัดเลือก "ไข่" "ไข่" ที่จะนำมาใช้ในขบวนการนี้ต้องเป็น "ไข่" ที่สุกเต็มที่เท่านั้น สำหรับ "ไข่" ที่ยังสุกไม่เต็มที่จำเป็นต้องเลี้ยงในตู้อบต่อไปจนกว่าจะสุก แล้วจึงนำมาทำ แต่ "ไข่" ที่สุกช้าเหล่านี้มักนำมาทำ "อิ๊กซี่" ไม่ค่อยได้ผล
5. การเตรียม "เชื้ออสุจิ" "เชื้ออสุจิ" ที่นำมาใช้ในการทำ "อิ๊กซี่" แม้จะมีน้อยแต่ต้องผ่านกระบวนการ "คัดเชื้อ" ก่อน เพื่อให้ได้ "ตัวอสุจิ" ที่มีคุณสมบัติพร้อมจะปฏิสนธิได้เลยทันที
6. การเจาะ "ไข่" ใส่ "ตัวอสุจิ" "ไข่" ที่สุกเต็มที่จะถูกนำมาเจาะใส่ "ตัวอสุจิ" ภายใน 4 ชั่วโมงภายหลังจากที่เก็บ "ไข่" ได้สำหรับ "ไข่" ที่ยังสุกไม่เต็มที่จะต้องรอประมาณ 4-8 ชั่วโมง ถ้า "ไข่" สุกขึ้นมาก็สามารถนำมาเจาะใส่ "ตัวอสุจิ" ได้
"ไข่" ที่ถูกเจาะใส่ "ตัวอสุจิ" จะต้องเลี้ยงต่อในตู้อบอุณหภูมิ 37 องศาเซ็นติเกรดเป็นเวลา 16-18 ชั่วโมง จึงจะมาดูว่ามีการปฏิสนธิเป็น "ตัวอ่อน" เกิดขึ้นหรือเปล่าหากมีการปฏิสนธิเกิดขึ้นก็ต้องมาพิจารณาดูว่า จะนำกลับเข้าสู่ร่างกายสตรีทางปากมดลูกหรือปีกมดลูก
7. การนำ "ตัวอ่อน" กลับเข้าสู่ร่างกายสตรี ถ้านำกลับเข้าสู่ร่างกายสตรีทางปีกมดลูกเราจะใช้ "ตัวอ่อน" อายุประมาณ 16-18 ชั่วโมง แต่ถ้านำกลับเข้าสู่ร่างกายทางปากมดลูกเราจะใช้ "ตัวอ่อน" อายุประมาณ 42-44 ชั่วโมง (หลังเจาะใส่ "ตัวอสุจิ")
การดูแลภายหลังหยอด "ตัวอ่อน" กลับเข้าสู่ร่างกายสตรี
คนไข้สตรีจะได้รับการฉีดฮอร์โมนเพื่อเสริมสร้างการทำงาของรังไข่ให้ดีขึ้น และคงสภาพของเยื่อบุโพรงมดลูกให้เหมาะสมต่อไป จนกว่าจะตรวจสอบว่าตั้งครรภ์หรือไม่ในวันที่ 13 ภายหลังจากหยอด "ตัวอ่อน"
หากพบว่า "ตั้งครรภ์" ก็จะนำมาทำอัลตราซาวน์ทางช่องคลอดเมื่ออายุครรภ์ 6 สัปดาห์ เพื่อดูว่า "ตัวอ่อน" ฝังตัวในโพรงมดลูกหรือเปล่าและตั้งครรภ์จำนวนเท่าไร
เมื่ออายุครรภ์ 8 สัปดาห์ จะทำการตรวจอัลตราซาวน์ซ้ำอีกครั้ง หากพบว่ามีการเต้นของหัวใจทารก นั่นแสดงว่า การตั้งครรภ์ครั้งนี้มีโอกาสแท้งน้อยมาก โอกาสที่จะตั้งครรภ์ไปจนกระทั่งคลอดสูงมาก
ภาวะแทรกซ้อน เหมือนกับการทำ "กิ๊ฟ" หรือ "เด็กหลอดแก้ว" ทั่วๆ ไป อันได้แก่ ภาวะแทรกซ้อนจากการดมยา, การกระตุ้นไข่ที่มากเกินไป, ท้องนอกมดลูก ครรภ์แฝดและอื่นๆ จากการเจาะท้องหรือเจาะผนังช่องคลอด แต่ภาวะความพิการของทารกไม่มากไปกว่าการตั้งครรภ์โดยธรรมชาติ
คู่สามีภรรยาจำนวนมาก ที่เคยรักษาภาวะมีลูกยากไม่ได้ผล หากลองมองย้อนกลับไปจะพบว่า ส่วนหนึ่งของสาเหตุแห่งความล้มเหลวเกิดจากภาวะ "เชื้ออ่อนมาก" ของฝ่ายชาย มาถึงตอนนี้ ยังถือว่า ไม่สายเกินไปที่จะเริ่มต้นรักษาใหม่ ด้วยการทำ "อิ๊กซี่" ซึ่งให้ผลสำเร็จได้ลูกกลับไปถึงร้อยละ 30-40 ในขณะที่แต่เดิมมามีความหวังไม่ถึงร้อยละ 5
"อิ๊กซี่" ไม่ใช่มีความหมายไพเราะเฉพาะชื่อ แต่มีคุณประโยชน์อย่างแท้จริงกับปัญหาที่ยากยิ่งของแต่ก่อน คือ ปัญหาผู้ชาย "เชื้ออ่อน" หรือเป็นหมัน ขอเพียงแต่ให้มี "อสุจิ" อยู่ในร่างกายและค้นหามาได้เท่านั้น ความฝันที่จะมีลูก "อิ๊กซี่" ย่อมเป็นจริงได้อย่างแน่นอน
พ.ต.ท.น.พ.เสรี ธีรพงษ์
[ ที่มา...นิตยสารแม่และเด็ก ปีที่ 23 ฉบับที่ 339 พฤษภาคม 2543]
ขอขอบคุณ www.clinicrak.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น