กรดโฟลิก

ถ้าจะว่ากันตามจริงแล้ว กรดโฟลิกมีความสำคัญและจำเป็น แต่ก็ไม่มากไปกว่าสารอาหารชนิดอื่น ๆ ในคนปกติ การขาดกรดโฟลิกจะทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง ในคนไทยส่วนใหญ่แล้ว เกิดจากการขาดธาตุเหล็ก มีส่วนน้อยเท่านั้นที่เกิดจากการขาดกรดโฟลิก สำหรับการขาดกรดโฟลิกในสตรีตั้งครรภ์นั้น เคยมีการตั้งข้อสังเกตว่าอาจมีความสัมพันธ์กับภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด และการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ แต่ที่มีการรายงานไว้อย่างน่าเชื่อถือก็คือพบว่าการขาดกรดโฟลิก มีความสัมพันธ์กับการเกิดควาผิดปกติของระบบประสาทของทารกในครรภ์ได้ ดังนั้นในสตรีที่เคยมีบุตรที่มีความผิดปกติแต่กำเนิดของระบบประสาท เช่นภาวะไม่มีกะโหลกศีรษะมีเนื้องงอกของไขสันหลัง เป็นต้นนั้น ควรได้รับการป้องกันโดยการกินกรดโฟลิกในขนาดสูง (4มิลลิกรัมต่อวัน) ตั้งแต่ก่อนมีการตั้งครรภ์และให้ได้รับต่อไปอีกในระยะ 3 เดือนของการตั้งครรภ์ได้ โดยทั่วไปแล้ว ความต้องการกรดโฟลิกในผู้ใหญ่ต้องการเพียงเล็กน้อยต่อวันคือ วันละ 150 ไมโครกรัม ถ้าเป็นสตรีในระยะตั้งครรภ์ปกติจะต้องการวันละ 500 ไมโครกรัม ในระยะให้นมบุตรต้องการวันละ 250 ไมโครกรัม แหล่งอาหารที่มีกรดโฟลิกมากก็คือ พวกผักที่มีใบเขียวจัด ๆ เครื่องในสัตว์ ผักที่เรากินราก เมล็ดพืช หอยนางรม ปลาแซลมอน และนม ซึ่งอาหารเหล่านี้ (ยกเว้นปลาแซลมอน) สามารถหามารับประทานได้ง่ายดายครับ ส่วนเรื่องการแพ้ท้องนั้น เป็นเรื่องปกติของสตรีตั้งครรภ์ส่วนใหญ่ คือ ร้อยละ 60 - 80 ที่มีอาการในระยะ 3 เดือนแรก แล้วมักจะค่อย ๆ หายไปเอง เมื่อตั้งครรภ์ตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น