การนับวันไข่ตก




การนับวันไข่ตก

ต้องมีการบันทึกว่าประจำเดือนมาวันที่เท่าไหร่ของทุกเดือน บันทึกอย่างนี้ไปประมาณอย่างน้อย 6 เดือนนะ แล้วก็มาคำนวณดูว่าประจำเดือนคุณกี่วันมาที ถ้า 28 วันก็หาร 2 จะได้ 14 วัน แล้วเริ่มนับตั้งแต่วันที่ประจำเดือนมาวันแรกไป 14 วัน คือวันที่ไข่ตก ให้คุณมีเพศสัมพันธ์ได้ตั้งห้าวันโดยกะเอาวันไข่ตกอยู่ช่วงกลาง เช่น วันที่มีประจำเดือนวันแรกคือ วันที่ 1 พ.ค. วันไข่ตกคือวันที่ 14 พ.ค. ก็ให้มีเพศสัมพันธ์กันช่วง วันที่ 12-16 ไง ไม่จำเป็นต้องทั้ง 5 วันก็ได้ เดี๋ยวจะเหนื่อยซะก่อน แต่ช่วง 5 วันนี้แหละ เหมาะเจาะ แต่ถ้า 30 หรือ 32 วันมาที ก็เอาสูตรเดิม เอา 2 หาร แค่นี้เองค่ะ แต่ประจำเดือนต้องมาสม่ำเสมอทุกเดือนด้วยนะคะ ถึงจะได้ผลดี

คำตอบ : ควรมีเพศสัมพันธ์ในช่วงวันที่13-15 ของรอบเดือน โดยนับวันที่มีเลือดประจำเดือนมาวันแรกเป็นวันที่ 1 ของรอบเดือน ระยะตกไข่จะอยู่ในช่วงวันที่13-15 ของรอบ

การนับรอบเดือน จะนับจากวันแรกของการมีประจำเดือนจนถึงวันแรกของการมีประจำเดือนรอบถัดไป ในผู้หญิงที่มีรอบระดูสม่ำเสมอจึงสามารถคำนวณวันตกไข่ได้ โดยจดวันแรกที่มีประจำเดือน แล้วนับย้อนหลังไปอีก 14 วัน นั่นคือวันที่ไข่ตกในรอบเดือนนั้น หรือง่ายๆก็คือ เกิดการตกไข่ 14 วันก่อนที่จะมีประจำเดือน เช่น รอบเดือน 28 วัน จะตกไข่วันที่ 14 ของรอบเดือน, รอบเดือน 30 วัน จะตกไข่วันที่ 16 ของรอบเดือน คนที่มีประจำเดือนไม่สม่ำเสมอมักจะมีปัญหาเรื่องการตกไข่

การออกกำลังกายในหญิงตั้งครรภ์

คนตั้งครรภ์ไม่ใช่คนป่วย แต่คนตั้งครรภ์มีการเปลี่ยนแปลงทางสรีระวิทยา ที่ข้อต่อและกล้ามเนื้อ จากการที่น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเสี่ยงต่อการบาดเจ็บได้ง่ายจึงสามารถออกกำลังกายได้และควรทำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สุขภาพกายแข็งแรง จิตใจแจ่มใส ร่าเริง ได้แต่มีข้อคำนึงถึง ดังนี้คือ
1.ต้องออกกำลังกาย ประเภทที่ไม่มีการปะทะ เพื่อหลีกเลี่ยงกาาบาดเจ็บ

2.ออกกำลังกายต้องมีการอบอุ่นร่างกาย การคลายเครียดของกล้ามเนื้อ

3.การออกกำลังกายควรค่อยเป็นค่อยไป และอย่าหักโหม ควบคุมให้ชีพจรเต้นไม่เกิน 140 ครั้งต่อนาที

4.การออกกำลังในคนตั้งครรภ์ต้องเป็นการออกกำลังแบบชนิดแอโรบิค เช่น การเดินเร็ว การว่ายน้ำ การขี่จักรยานอยู่กับที่ การออกกำลังกายประกอบกิจกรรมบนพื้น หรือกายบริหารเป็นสิ่งที่แนะนำให้กระทำ เพื่อลดและหลีกเลี่ยง การเกิดอุบัติเหตุจากการหกล้ม หรือล่วงหล่น ตกจากอุปกรณ์ออกกำลังกายต่างๆ

5.การออกกำลังกายที่จะทำให้อุณหภูมิของร่างกายเพิ่มสูงขึ้น เป็นข้อห้าม เพราะจะมีผลต่อทารกในครรภ์ ซึ่งอาจจะพิการหรือถึงกับเสียชีวิตได้ ควรดื่มน้ำทุก 15-20 นาที เพื่อช่วยระบายความร้อนที่สะสมในร่างกายออกไป

ควรปรึกษาแพทย์ถึงแนวทางและข้อปฎิบัติที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล

การปฏิบัติตัวระหว่างตั้งครรภ์

เมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์ คุณแม่ส่วนใหญ่จะมีความตื่นเต้น ยินดี แต่บางครั้งก็รู้สึกกังวลใจ เมื่อร่างกายเปลี่ยนแปลง การได้เรียนรู้ในการดูแลสุขภาพจะช่วยให้คุณแม่เข้าใจตนเอง และสร้างความมั่นใจในการตั้งครรภ์ได้ดีขึ้น
การฝากครรภ์
การฝากครรภ์มีประโยชน์สำหรับคุณแม่มาก คุณแม่จะได้รับการฉีดยาป้องกันบาดทะยัก ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะเพื่อค้นหาความผิดปกติ ซักประวัติ ตรวจร่างกายโดยละเอียด เพื่อให้ทราบว่าการตั้งครรภ์เป็นปกติหรือไม่ ได้รับคำแนะนำในการปฏิบัติตัว และได้รับยาบำรุงร่างกาย หรือยาตามอาการที่แพทย์ตรวจพบ ควรมาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง หรือมาก่อนนัดได้เมื่อมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น
อาการที่พบขณะตั้งครรภ์
คลื่นไส้ อาเจียน ที่เรียกกันว่าแพ้ท้อง พบได้ตั้งแต่ประจำเดือนเริ่มขาด ควรรับประทานอาหารครั้งละน้อยแต่บ่อยครั้ง ไม่เคร่งเครียด และกังวลใจจนเกินไป ถ้ามีอาการมากควรปรึกษาแพทย์
ท้องอืด เนื่องจากกระเพาะอาหาร และลำไส้เคลื่อนไหวน้อยลง จึงควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ย่อยยาก ของหมักดอง อาหารหรือเครื่องดื่มที่ทำให้เกิดลม หรือแก๊สมาก
ท้องผูก พบได้บ่อยในหญิงตั้งครรภ์ เพราะการเคลื่อนไหวของลำไส้ช้าลง ควรรับประทานอาหารที่มีกากใน เช่น ผัก ผลไม้ให้มากขึ้น ดื่มน้ำวันละ 6-8 แก้ว ออกกำลังกายบ้าง และขับถ่ายเป็นประจำทุกวัน ถ้าท้องผูกมากควรปรึกษาแพทย์ ไม่ควรซื้อยาระบายท้องรับประทานเอง
ปัสสาวะบ่อย เป็นเพราะมดลูกที่โตขึ้นไปกด และเบียดกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะออกบ่อย ไม่ควรกลั้นปัสสาวะนาน เนื่องจากจะทำให้กระเพาะปัสสาวะ และกรวยไตอักเสบได้
ตกขาว พบได้ตลอดระยะตั้งครรภ์ เนื่องจากเลือดมาเลี้ยงช่องคลอดมากขึ้น จึงขับมูกขาวออกมาก ถือเป็นเรื่องปกติ ควรรักษาความสะอาด แต่ถ้ามีตกขาวมากผิดปกติ ตกขาวมีกลิ่นเหม็น หรือมีอาการคันร่วมด้วย ควรรีบปรึกษาแพทย์
เส้นเลือดขอด เกิดจากการที่มดลูกขยายใหญ่ขึ้น และไปกดการไหลกลับของเลือดที่ไปเลี้ยงส่วนขา ทำให้เลือดมาคั่งอยู่ในบริเวณที่ต่ำกว่าตั้งแต่โคนขาลงมาจนถึงเท้า เมื่อเลือดคั่งอยู่นาน ทำให้เส้นเลือดโป่งพองขึ้น ควรนอนยกเท้าให้สูงกว่าลำตัวบ้าง ไม่ควรนั่งไขว่ห้าง หรือนั่งห้อยเท้า ควรมีโต๊ะวางปลายเท้าให้สูง เปลี่ยนอิริยาบถทุก 1 ชั่วโมง
ตะคริว มักเป็นที่ปลายเท้า และน่อง พบบ่อยในหญิงตั้งครรภ์ เกิดจากระดับแคลเซียมในเลือดลดต่ำ และจากการไหลเวียนของเลือดที่ขาช้าลง ควรนอนยกขาให้สูง นวด และใช้น้ำอุ่นประคบ รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นม กุ้ง ปลาตัวเล็ก ๆ ปลากระป๋อง ผักใบเขียวจัด เป็นต้น
เด็กดิ้น คุณแม่จะรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของลูกในครรภ์ได้เป็นครั้งแรก เมื่อตั้งครรภ์ได้ 4-5 เดือน ความรู้สึกจะแผ่ว ๆ เหมือนปลาตอดเบา ๆ เมื่อใกล้คลอดเด็กในครรภ์โตขึ้นจะดิ้นแรง ถ้ารู้สึกลูกดิ้นน้อยลงควรพบแพทย์
การปฏิบัติตัวระหว่างตั้งครรภ์
อาหาร คุณแม่จะรับประทานอาหารได้ดีขึ้น เมื่ออาการแพ้ท้องหายไป ควรเลือกอาหารที่มีประโยชน์ ประเภทเนื้อสัตว์ ไข่ นม ผัก ผลไม้ ไม่ควรรับประทานอาหารพวก ข้าว แป้ง น้ำตาล ขนมหวาน ไขมันมาเกินไป ควรหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด อาหารดิบ ๆ สุก ๆ ของหมักดอง ผงชูรส ชา กาแฟ เหล้า และบุหรี่
การพักผ่อน ระหว่างตั้งครรภ์ คุณแม่จะรู้สึกเหนื่อย และอ่อนเพลียง่าย กลางคืนควรนอนหลับให้เต็มอิ่ม ประมาณ 8-10 ชั่วโมง และควรหาเวลานอนพักในตอนบ่ายอีกอย่างน้อย 1 ชั่วโมง
การออกกำลังกาย ช่วยให้ระบบการย่อยอาหารดี ร่างกายแข็งแรง เช่น เดินเล่นในที่ที่มีอากาศปลอดโปร่ง ทำงานบ้านเบา ๆ บริหารร่างกายด้วยท่าง่าย ๆ ข้อควรระวัง คือ อย่าออกกำลังกายหักโหมจนร่างกายเหนื่อย อ่อนเพลีย หรือกระทบกระเทือนท้อง
การรักษาความสะอาดร่างกาย ระยะตั้งครรภ์จะรู้สึกร้อน และเหงื่อออกมาก ควรอาบน้ำให้ร่างกายสะอาดสดชื่น แต่ถ้าอากาศเย็นควรอาบน้ำอุ่น และให้ความอบอุ่นกับร่างกาย ถ้าผิวแห้ตึงให้ใช้โลชั่นทาหลังอาบน้ำ
การดูแลปากและฟัน หญิงตั้งครรภ์มักมีปัญหาฟันผุ และเหงือกอักเสบได้ง่าย ควรแปรงฟันอย่างถูกวิธีวันละ 2 ครั้ง และบ้วนปากด้วยน้ำสะอาด หรือแปรงฟันทุกครั้งหลังอาหาร ถ้ามีปัญหาช่องปาก และฟันควรรีบพบทันตแพทย์
การดูแลเต้านม ขณะตั้งครรภ์เต้านมจะขยายขึ้น เพื่อเตรียมสร้างน้ำนมให้ลูกน้อย ควรเปลี่ยนยกทรงให้มีขนาดพอเหมาะใส่สบาย คุณแม่บางคนอาจจะมีน้ำนมไหลซึมออกมา ไม่ต้องกังวลใจ เวลาอาบน้ำให้ล้างเต้านมด้วยน้ำสะอาด ไม่ควรฟอกสบู่เพราะจะทำให้ผิวแห้งมาก อาจใช้โลชั่นทานวด เมื่อรู้สึกผิวแห้งตึง หรือคัน ถ้ามีปัญหาหัวนมสั้น หัวนมบอด หรือผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์หรือพยาบาลที่ฝากครรภ์ก่อนที่จะคลอด มิฉะนั้นอาจจะมีอุปสรรคต่อการให้นมลูก
การมีเพศสัมพันธ์ ไม่มีข้อห้ามในผู้ตั้งครรภ์ปกติ แต่ควรงดเว้นใน 1 เดือน สุดท้ายก่อนคลอด ในรายที่เคยแท้ง ควรงดเว้นการมีเพศสัมพันธ์ในระยะ 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ในรายที่มีปัญหาอื่น ๆ ควรปรึกษาแพทย์ หรือพยาบาลผู้ตรวจครรภ์
อาการผิดปกติที่ควรพบแพทย์
คลื่นไส้ อาเจียนมากว่าปกติ
ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว
ปัสสาวะขัดแสบ มีไข้สูง
ตกขาว มีกลิ่นเหม็น มีสีเขียวปนเหลือง คันช่องคลอด
บวมตาหน้า มือ และเท้า
ลูกดิ้นน้อยลงจนผิดสังเกต อย่ารอจนลูกไม่ดิ้น
มีเลือดออกทางช่องคลอด
มีน้ำใส ๆ คล้ายปัสสาวะออกทางช่องคลอด
ปวดท้อง หรือท้องแข็งเกร็งบ่อยมาก
เมื่อมีอาการเหล่านี้ หรืออาการที่คิดว่าผิดปกติอื่น ๆ ควรรีบพบแพทย์ หากทิ้งไว้นานจะมีอันตรายต่อคุณแม่ และลูกที่อยู่ในครรภ์


ที่มา : คุณปาลีรัฐ พิทักษ์ดำรงกิจ นักสุขศึกษา

การทำอิ๊กซี่ (ICSI)

การทำอิ๊กซี่ ICSI :Intracytoplasmic Sperm Injection
"อิ๊กซี่" ชื่อนี้คล้ายกับเป็นชื่อเล่นของเด็กเล็ก เพราะเป็นชื่อที่ไพเราะเสนาะหู ฟังดูน่ารัก สั้นและจำได้ง่าย
ความจริง "อิ๊กซี่" (ICSI) เป็นชื่อที่ย่อมาจากคำว่า Intracytoplasmic Sperm Injection (คำแปล คือการฉีดหรือเจาะใส่ "ตัวอสุจิ" เข้าไปในเนื้อของเซลล์ "ไข่")
คำถาม คือว่าทำไมนักวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงคิดใช้วิธีพิสดารเช่นนี้ ในการรักษาคนไข้มีลูกยาก
ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่า สาเหตุของภาวะมีบุตรยากที่เกิดจากผู้ชายแต่เดิมมานั้นยังให้การรักษาได้ผลน้อยมาก ไม่ว่าจะทำ "กิ๊ฟ" หรือ "เด็กหลอดแก้ว" วิธีดั้งเดิมก็ตาม
การแก้ปัญหาภาวะมีบุตรยากจากฝ่ายชาย โดยใช้เทคโนโลยีวิธีใหม่ล่าสุด "อิ๊กซี่" นี่ช่วยแก้ปัญหาได้มาก จนแทบหมดไปเลยทีเดียว เพราะสามารถแก้ปัญหาได้ทั้งกรณีจำนวน "เชื้ออสุจิ" น้อย, การเคลื่อนไหวของ "ตัวอสุจิ" ไม่ดี หรือแม้หยุดนิ่งอยู่กับที่ รวมทั้งรูปร่างของ "ตัวอสุจิ" พิกลพิการ ผิดรูป ผิดร่าง ขอเพียงแต่ให้มีชีวิตอยู่เท่านั้น
ยิ่งกว่านั้นในกรณีไม่มี "เชื้ออสุจิ" ในน้ำอสุจิที่หลั่งออกมา หากสามารถเข้าไปควานหา "ตัวอสุจิ" ที่อัณฑะได้ก็ยังรักษาให้คู่สามีภรรยามีลูกสมบูรณ์ได้ เหมือนคนปกติโดยทั่วไป
เมื่อแรกศักราชของการรักษา โดยใช้วิธีเจาะ "ไข่" ใส่ "ตัวอสุจิ" เข้าไป (Micromanipulation อ่านว่า "ไมโครแมนิพิวเลชั่น") ยังไม่ค่อยมีใครกล้าใช้ "ตัวอ่อน" ทีเกิดจากการเจาะใส่ "ตัวอสุจิ" เข้าไปในเนื้อไข่โดยตรง (ICSI) คงเริ่มต้นรักษาด้วยการใช้ "ตัวอ่อน" ที่เกิดจากการเจาะเฉพาะเปลือกไข่แล้วใส่ "เชื้ออสุจิ" ไว้รอบๆ ให้ว่ายเข้าไปปฏิสนธิเอง ที่เรียกว่า Zona Drilling Gordon & Talansky ทำวิจัยในหนูเพื่อแก้ปัญหา "เชื้ออ่อน" ในคนได้สำเร็จ และรายงานไว้ในปี ค.ศ.1986 (พ.ศ.2529) วิธีนี้ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงกรรมวิธีเจาะเปลือกไข่จากการใช้กรดเป็นหลอดแก้วเล็กๆ ปลายแหลมและเรียกใหม่ว่า "PZD" (Partial Zona Dissection or Zona Cutting) ซึ่ง Malter & Cohen ทำสำเร็จเป็นครั้งแรกและรายงานไว้ในปี ค.ศ.1989 (พ.ศ.2532)
ต่อมามีการพัฒนาวิธีการทำโดยเจาะเปลือกไข่ แล้วใส่ "ตัวอสุจิ" เข้าไปไว้ข้างใต้เปลือกไข่ แต่ไม่ได้ใส่ทะลุเข้าไปในเนื้อของ "ไข่" เรียกว่า "ซูซี่" (SUZI ย่อมาจาก Subzonal Sperm Injection) Ng และ คณะทำสำเร็จและได้ลูก "ซุซี่" คนแรกเมื่อปี ค.ศ.1990 (พ.ศ.2533)
แต่ปัญหาที่เกิดตามมาไม่ว่าจะเป็นวิธี "PZD" หรือ "SUZI" คือมี "ตัวอ่อน" จำนวนหนึ่งพอสมควรทีเดียว ที่มีการปฏิสนธิผิดปกติ คือมีอสุจิเขาไปปฏิสนธิมากกว่า 1 ตัวเนื่องจากวิธีการดังกล่าวจะใส่ "ตัวอสุจิ" เข้าไปในตำแหน่งที่ต้องการหลายตัว (ประมาณ 5 ตัวต่อไข่ 1 ใบ) โดยหวังว่าจะมี "อสุจิ" ว่ายเข้าไปปฏิสนธิเองเพียงตัวเดียว "ตัวอ่อน" ที่ผิดปกติเหล่านี้ห้ามนำกลับเข้าไปสู่ร่างกายคนไข้สตรีเพราะหากตั้งครรภ์ขึ้นก็จะไม่ได้ทารกตามต้องการ แต่จะได้ทารกที่ผิดปกติและแท้งออกมาในที่สุด
เมื่อเป็นเช่นนี้ในปี ค.ศ.1992 (พ.ศ.2535) Palermo และคณะได้ทำการทดลองค้นคว้าจนสามารถแก้ปัญหานี้ได้สำเร็จและได้ลูก "อิ๊กซี่" คนแรก ซึ่งมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงปราศจากความพิการใดๆ หลังจากนั้นเทคโนโลยี "อิ๊กซี่" นี้ ได้แพร่ระบาดไปยังทั่วทุกมุมโลกอย่างรวดเร็ว
สำหรับในประเทศไทยลูก "อิ๊กซี่" คนแรก ได้ถือกำเนิดขึ้นมาเมื่อปี ค.ศ.1995 (พ.ศ.2538) ที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ และต่อมาก็มีหนูน้อย "อิ๊กซี่" เกิดตามมาอีกเป็นจำนวนมากจากสถาบันต่างๆ
ปัจจุบันนี้เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า "อิ๊กซี่" แก้ปัญหา "เชื้ออ่อนมาก" ในผู้ชายได้เป็นอย่างดี จนไม่มีใครหวนกลับไปใช้วิธี "SUZI" หรือ "PZD" อีกต่อไปแล้ว

หลักเกณฑ์หรือข้อบ่งชี้ ที่จะใช้รักษาด้วยวิธีนี้คือ
1. "เชื้ออสุจิ" มีความผิดปกติอย่างมาก ได้แก่
1.1 จำนวน "ตัวอสุจิ" ที่ว่าหรือเคลื่อนไหวไปข้างหน้าอย่างปกติได้มีน้อยกว่า 500,000 ตัว ในน้ำอสุจิที่หลั่งออกมาแต่ละครั้ง
1.2 จำนวน "ตัวอสุจิ" ที่ได้จากการตรวจมีน้อยกว่า 2 ล้านตัว ต่อมิลลิลิตร
1.3 การเคลื่อนไหวของ "เชื้ออสุจิ" ไม่มีเลย
1.4 รูปร่างของ "ตัวอสุจิ" ผิดปกติทั้งหมด
2. มีความผิดปกติเรื่องภูมิต้านทาน เช่น มีภาวะภูมิต้านทานต่อต้าน "ตัวอสุจิ"
3. มีโรคที่เป็นปัญหาทำให้ "เชื้ออสุจิ" ไม่เคลื่อนไหวไปข้างหน้าเนื่องจากมีความผิดปกติที่ส่วนหาง
4. ภาวะผิดปกติที่มีการหลั่งของ "น้ำอสุจิ" แล้ว "เชื้ออสุจิ" ไหลย้อนกลับเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ
5. เคยรักษาด้วยวิธีการทำ "เด็กหลอดแก้ว" (Conventional IVF) หรือทำ "เด็กหลอดแก้ว" ร่วมกับ "PZD" หรือ "SUZI" มาก่อนแล้วไม่มีการปฏิสนธิเกิดขึ้นจากสถาบันใดก็ตาม
ขั้นตอนการทำ "อิ๊กซี่"
1. การคัดเลือก คู่สามีภรรยาที่จะมารักษาต้องมี "ข้อบ่งชี้" ดังกล่าวข้างต้นเท่านั้นจึงจะคุ้มค่ากับการทำ
2. การกระตุ้น "ไข่" โดยใช้ฮอร์โมนหรือยาฉีดกระตุ้นเพื่อให้ได้ "ไข่" หลายๆ ใบ เราต้องติดตามดูการเจริญเติบโตของ "ไข่" เป็นระยะๆ ด้วยการดูอัลตราซาวนด์และเจาะเลือดตรวจฮอร์โมนที่ "ไข่" สร้างขึ้น เมื่อได้ไข่ที่มีขนาดเหมาะสมและฮอร์โมนอยู่ในเกณฑ์พอเหมาะ เราจะกระตุ้นให้ "ไข่" เปลี่ยนแปลงคุณสมบัติภายในครั้งสุดท้ายเพื่อให้เหมาะแก่การปฏิสนธิ แล้วจึงเจาะเก็บ "ไข่" ที่สุกเหล่านั้นออกมา
3. การเก็บ "ไข่" ใช้เข็มยาวที่ทำขึ้นโดยเฉพาะเจาะผ่านผนังช่องคลอด โดยมีอัลตราซาวนด์ช่วยชี้นำการเจาะ "ไข่" ผ่านทางผนังช่องคลอดนี้ทำให้ได้ "ไข่" จำนวนมากถึงร้อยละ 90 ของทั้งหมด
4. การคัดเลือก "ไข่" "ไข่" ที่จะนำมาใช้ในขบวนการนี้ต้องเป็น "ไข่" ที่สุกเต็มที่เท่านั้น สำหรับ "ไข่" ที่ยังสุกไม่เต็มที่จำเป็นต้องเลี้ยงในตู้อบต่อไปจนกว่าจะสุก แล้วจึงนำมาทำ แต่ "ไข่" ที่สุกช้าเหล่านี้มักนำมาทำ "อิ๊กซี่" ไม่ค่อยได้ผล
5. การเตรียม "เชื้ออสุจิ" "เชื้ออสุจิ" ที่นำมาใช้ในการทำ "อิ๊กซี่" แม้จะมีน้อยแต่ต้องผ่านกระบวนการ "คัดเชื้อ" ก่อน เพื่อให้ได้ "ตัวอสุจิ" ที่มีคุณสมบัติพร้อมจะปฏิสนธิได้เลยทันที
6. การเจาะ "ไข่" ใส่ "ตัวอสุจิ" "ไข่" ที่สุกเต็มที่จะถูกนำมาเจาะใส่ "ตัวอสุจิ" ภายใน 4 ชั่วโมงภายหลังจากที่เก็บ "ไข่" ได้สำหรับ "ไข่" ที่ยังสุกไม่เต็มที่จะต้องรอประมาณ 4-8 ชั่วโมง ถ้า "ไข่" สุกขึ้นมาก็สามารถนำมาเจาะใส่ "ตัวอสุจิ" ได้
"ไข่" ที่ถูกเจาะใส่ "ตัวอสุจิ" จะต้องเลี้ยงต่อในตู้อบอุณหภูมิ 37 องศาเซ็นติเกรดเป็นเวลา 16-18 ชั่วโมง จึงจะมาดูว่ามีการปฏิสนธิเป็น "ตัวอ่อน" เกิดขึ้นหรือเปล่าหากมีการปฏิสนธิเกิดขึ้นก็ต้องมาพิจารณาดูว่า จะนำกลับเข้าสู่ร่างกายสตรีทางปากมดลูกหรือปีกมดลูก
7. การนำ "ตัวอ่อน" กลับเข้าสู่ร่างกายสตรี ถ้านำกลับเข้าสู่ร่างกายสตรีทางปีกมดลูกเราจะใช้ "ตัวอ่อน" อายุประมาณ 16-18 ชั่วโมง แต่ถ้านำกลับเข้าสู่ร่างกายทางปากมดลูกเราจะใช้ "ตัวอ่อน" อายุประมาณ 42-44 ชั่วโมง (หลังเจาะใส่ "ตัวอสุจิ")
การดูแลภายหลังหยอด "ตัวอ่อน" กลับเข้าสู่ร่างกายสตรี
คนไข้สตรีจะได้รับการฉีดฮอร์โมนเพื่อเสริมสร้างการทำงาของรังไข่ให้ดีขึ้น และคงสภาพของเยื่อบุโพรงมดลูกให้เหมาะสมต่อไป จนกว่าจะตรวจสอบว่าตั้งครรภ์หรือไม่ในวันที่ 13 ภายหลังจากหยอด "ตัวอ่อน"
หากพบว่า "ตั้งครรภ์" ก็จะนำมาทำอัลตราซาวน์ทางช่องคลอดเมื่ออายุครรภ์ 6 สัปดาห์ เพื่อดูว่า "ตัวอ่อน" ฝังตัวในโพรงมดลูกหรือเปล่าและตั้งครรภ์จำนวนเท่าไร
เมื่ออายุครรภ์ 8 สัปดาห์ จะทำการตรวจอัลตราซาวน์ซ้ำอีกครั้ง หากพบว่ามีการเต้นของหัวใจทารก นั่นแสดงว่า การตั้งครรภ์ครั้งนี้มีโอกาสแท้งน้อยมาก โอกาสที่จะตั้งครรภ์ไปจนกระทั่งคลอดสูงมาก
ภาวะแทรกซ้อน เหมือนกับการทำ "กิ๊ฟ" หรือ "เด็กหลอดแก้ว" ทั่วๆ ไป อันได้แก่ ภาวะแทรกซ้อนจากการดมยา, การกระตุ้นไข่ที่มากเกินไป, ท้องนอกมดลูก ครรภ์แฝดและอื่นๆ จากการเจาะท้องหรือเจาะผนังช่องคลอด แต่ภาวะความพิการของทารกไม่มากไปกว่าการตั้งครรภ์โดยธรรมชาติ
คู่สามีภรรยาจำนวนมาก ที่เคยรักษาภาวะมีลูกยากไม่ได้ผล หากลองมองย้อนกลับไปจะพบว่า ส่วนหนึ่งของสาเหตุแห่งความล้มเหลวเกิดจากภาวะ "เชื้ออ่อนมาก" ของฝ่ายชาย มาถึงตอนนี้ ยังถือว่า ไม่สายเกินไปที่จะเริ่มต้นรักษาใหม่ ด้วยการทำ "อิ๊กซี่" ซึ่งให้ผลสำเร็จได้ลูกกลับไปถึงร้อยละ 30-40 ในขณะที่แต่เดิมมามีความหวังไม่ถึงร้อยละ 5
"อิ๊กซี่" ไม่ใช่มีความหมายไพเราะเฉพาะชื่อ แต่มีคุณประโยชน์อย่างแท้จริงกับปัญหาที่ยากยิ่งของแต่ก่อน คือ ปัญหาผู้ชาย "เชื้ออ่อน" หรือเป็นหมัน ขอเพียงแต่ให้มี "อสุจิ" อยู่ในร่างกายและค้นหามาได้เท่านั้น ความฝันที่จะมีลูก "อิ๊กซี่" ย่อมเป็นจริงได้อย่างแน่นอน
พ.ต.ท.น.พ.เสรี ธีรพงษ์
[ ที่มา...นิตยสารแม่และเด็ก ปีที่ 23 ฉบับที่ 339 พฤษภาคม 2543]
ขอขอบคุณ www.clinicrak.com

การเลือกรับประทานอาหารหลังคลอด

การเลือกรับประทานอาหารหลังคลอด คุณควรเลือกรับประทานอาหารที่จะเสริมสร้างน้ำนม เช่น หัวปลี หือแกงเลียง หรืออาหารที่มีกรดไขมันจำเป็น เช่น เนื้อปลา เป็นต้น และหากคุณต้องการกลับไปมีหุ่นเหมือนเดิมก่อนตั้งครรภ์ คุณก็คงต้องบริหารร่างกาย พร้อมกับออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้กล้ามเนื้อหน้าท้องกระชับเข้ารูปเหมือนเดิม คุณอาจจะเลือกรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารพวดแคลเซียม ธาตุเหล็ก กรดโฟลิก ต่อไปอีกสักรัยะหนึ่ง และอาจลดขนาดลงเมื่อคุณเปลี่ยนให้ลูกดื่มนมผงแทน ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากมาย ในการเตรียมตัวเป็นคุณแม่คนใหม่ ซึ่งไม่สามารถเขียนบอกได้หมด คุณสามารถขอคำแนะนำจากแพทย์หรือหาความรู้เพิ่มเติม ได้จากหนังสือหรือนิตยสารทางด้านนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีต่อตัวคุณ และลูกน้อยของคุณเอง ใครเล่าจะดูแลตัวเราได้ดีเท่าตัวเราเอง หวังว่าคุณคงมีความสุขกับการเป็นคุณแม่ แห่งสหัสวรรษใหม่

ภาวะบกพร่อง ระหว่างตั้งครรภ์

อาการแพ้ท้อง

คลื่นไส้อาเจียน บางคนเป็นมากจนทนไม่ได้ หรือรับประทานอาหารไม่ได้เลย ต้องรับประทานของเปรี้ยวๆทดแทน บางครั้งแพทย์จะจ่ายวิตามินบี 6 (piridoxine) ให้ในกรณีจำเป็น คุณก็รับประทานในปริมาณจำกัดเมื่อทนไม่ได้เท่านั้น อย่ารับประทานแบบป้องกันไว้ก่อน นั่นไม่ใช่วิธีที่ดีในการดูแลครรภ์

ท้องผูก

แน่นอนเมื่อเด็กในครรภ์โตขึ้น ย่อมไปเบียดเสียดแย่งที่อยู่ของอวัยวะอื่นๆในช่องท้อง ทำให้ลำไส้ใหญ่ทำงานไม่สะดวก พยายามรับประทานผลไม้ หรืออาหารที่มีเส้นใยเช่น เมล็ดแมงลัก โดยเฉพาะส่วนไฟเบอร์และเยื่อเมือกเพื่อช่วยลดอาการ มิฉะนั้นอาจก่อให้เกิดอาการริดสีดวงได้

เส้นเลือดขอด

เป็นภาวะที่พบได้บ่อยเช่นกัน แพทย์มักแนะนำให้สวมถุงน่องชนิดพิเศษ ที่ช่วยบีบรัดเส้นเลือด ก็สามารถทุเลาอาการนี้ได้ระดับหนึ่ง

ปวดศรีษะ

เป็นผลจากภาวะการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน พยายามทนหรือใช้น้ำร้อนหรือน้ำเย็นประคบ รับประทานยาแก้ปวดได้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น

อาการบวมน้ำ

มักพบในช่วงครรภ์แก่ใกล้คลอด พึงหลีกเลี่ยงอาหารรสเค็มจัด หรือเกลือโซเดียม เช่น ผงชูรส ก็จะช่วยบรรเทาอาการได้ หากไม่ทุเลาต้องรีบปรึกษาแพทย์โดยด่วน

เป็นสิวเป็นฝ้า

เราพบว่าคุณแม่บางคนหน้าเนียนใสเมื่อตั้งครรภ์ แต่บางคนสิวฝ้าขึ้นเต็มหน้า เป็นเพราะฮอร์โมนอีกเช่นกัน สามารถใช้ยารักษาทาได้ แต่ต้องไม่ใช่ประเภทสาร สเตียรอยด์ หรือกรดวิตามินเอ เพราะจะอันตรายและดูดซึมเข้าร่างกายไปมีผลต่อเด็กได้ ห้ามใช้ยากินรักษาสิวฝ้าเด็ดขาด พยายามรักษาแบบประคับประคองไปก่อน เมื่อคลอดแล้วผิวหน้าคุณก็จะกลับมาเป็นปกติดังเดิม

ประเภทของการออกกำลังกายและอาหาร

การออกกำลังกายเป็นสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรละเลย แต่ในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ควรระวังให้มาก เลือกประเภทของการออกกำลังกายอย่างเบาเช่น เดินหรือ ว่ายน้ำ ระวังห้ามยกของหนัก เพราะช่วงนี้เป็นช่วงสำคัญ มาก ทารกจะมีการสร้างอวัยวะใน 3 เดือนแรกของการ ตั้งครรภ์และเป็นระยะที่มีความเสี่ยงของการแท้งได้ พึง หลีกเลี่ยงการรับประทานยาใดๆ ที่ไม่จำเป็น และหากต้อง รับประทานก็ควรปรึกษาแพทย์ที่คุณฝากครรภ์เลือกรับ ประทานอาหารที่มีคุณค่าให้ครบและสมดุล ความต้องการ สารอาหารของคุณสุภาพสตรีในภาวะตั้งครรภ์แตกต่างกัน ไปไม่มีหลักที่แน่นอนตายตัว ควรปรึกษาแพทย์เช่นกัน นอกจากนี้สารอาหารสำคัญๆ ที่คุณขาดไม่ได้ก็คือ แร่ธาตุ แคลเซียม ธาตุเหล็ก กรดโฟลิก กรดอะมิโนรวมอย่าง น้อย 20 ชนิด และวิตามินอื่นๆ ซึ่งคุณอาจได้รับไม่ เพียงพอจากอาหารที่รับประทานปกติในแต่ละวัน

ธาตุเหล็ก

มีมากในตับสัตว์ เนื้อวัว ถั่วเมล็ดแบน อาทิ ถั่วเหลือง ลูกนัท ผลไม้ตากแห้ง เนื้อสัตว์ปีก ปลา เมล็ดข้าวที่ไม่ผ่านกระบวนการขัดสี พืชผัก ใบเขียวเข้ม เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เช่นกัน ทารกต้อง สร้างเม็ดเลือดแดงซึ่งอาศัยธาตุเหล็กเป็นตัวหลัก ธาตุเหล็กเป็นตัวนำอ็อกซิเจนไปสู่ร่างกาย และคุณ แม่ต้องมีเลือดให้มากพอในร่างกายเพื่อเตรียมพร้อม สำหรับการเสียเลือดขณะคลอดและการให้นมลูก ก็ต้องอาศัยธาตุเหล็กในการสร้างน้ำนมด้วยเช่นกัน

แร่ธาตุแคลเซียม
ทารกต้องการธาตุ แคลเซียมสูงในการสร้างโครงกระดูกของทั้งร่างกาย ซึ่งได้รับจากแม่โดยผ่านทางเลือด คุณแม่ มักจะเริ่มมีสัญญาน เตือนของการขาดธาตุแคลเซียมเพราะถูกลูกแย่งไปคือ มีอาการเสียวฟัน เป็นตะคริวบ่อย แขนขาหนักไม่มีแรง คุณต้องรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูงมากๆ เพื่อทดแทนในส่วนที่ลูกแย่งไป เช่น ดื่มนมสดมากๆ หากคุณไม่แพ้นม หรืออาจเลือกเป็นนมเปรี้ยว โยเกิร์ต ปลาตัวเล็กที่รับ ประทานได้ทั้งตัว กุ้งแห้ง หรือแม้แต่ผักใบเขียว เช่น ผักโขม ใบยอ หรือผลไม้เช่น มะขามก็มีแร่ธาตุ แคลเซียมสูง แม้แต่ธัญพืช เช่น ถั่วเหลืองและงาดำ หากรับประทานมากขนาดนี้แล้วยังมีอาการ อยู่ ก็คงต้องพึ่งผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีแร่ธาตุแคลเซียม เช่น แคลเซียมซิเตรท แต่ต้องปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง

กรดโฟลิก
เป็นวิตามิน บี ที่ละลายน้ำได้ อาหารที่มีกรดโฟลิกมากคือ ไข่แดง ตับ ผักใบเขียว เข้ม อาทิ ผักโขม ผักคะน้า ถั่วตากแห้ง หน่อไม้ฝรั่ง กะหล่ำดอกและกะหล่ำปลี ส้ม ข้าวสาลีไม่ สกัดรำ กรดโฟลิก เป็นสารที่จำเป็นยิ่งต่อการเจริญเติบโต และการเจริญพันธุ์ ป้องกันความผิดปกติ ของเลือด สัมพันธ์กับกระบวนการสังเคราะห์กรดนิวคลีอิค ซึ่งเป็นสารพันธุกรรมของ เซลล์ ผู้หญิงที่มีระดับของกรดโฟลิกต่ำ จะมีปัจจัยเสี่ยงต่อการคลอดบุตรที่มี ความผิดปกติของท่อประสาท (neural tube defect) ในอัตราที่สูงขึ้น และครอบคลุมถึงภาวะล้มเหลว ในการพัฒนาของสมองและกระดูกสันหลัง และสตรีที่เพิ่งจะมีบุตร คนแรกจะมีความจำเป็นในการบริโภค กรดโฟลิกสูงมาก ประมาณวันละ 400 ไมโครกรัม เราพบว่า มีตัวอย่างที่คุณแม่มีกรดโฟลิกไม่เพียงพอเมื่อลูกเกิด มาไม่สามารถเดินได้ต้องพิการตลอดชีวิต ฉะนั้น ให้พึงระวังในจุดนี้ให้มาก


กรดอะมิโนรวม
มีความจำเป็นในผู้หญิงที่มีน้ำหนักน้อย โปรตีนสำคัญต่อการเติบโตของเด็กในครรภ์ แต่คุณควรปรึกษาแพทย์ก่อน เลือกรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกลุ่มนี้

กรดโฟลิก

ถ้าจะว่ากันตามจริงแล้ว กรดโฟลิกมีความสำคัญและจำเป็น แต่ก็ไม่มากไปกว่าสารอาหารชนิดอื่น ๆ ในคนปกติ การขาดกรดโฟลิกจะทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง ในคนไทยส่วนใหญ่แล้ว เกิดจากการขาดธาตุเหล็ก มีส่วนน้อยเท่านั้นที่เกิดจากการขาดกรดโฟลิก สำหรับการขาดกรดโฟลิกในสตรีตั้งครรภ์นั้น เคยมีการตั้งข้อสังเกตว่าอาจมีความสัมพันธ์กับภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด และการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ แต่ที่มีการรายงานไว้อย่างน่าเชื่อถือก็คือพบว่าการขาดกรดโฟลิก มีความสัมพันธ์กับการเกิดควาผิดปกติของระบบประสาทของทารกในครรภ์ได้ ดังนั้นในสตรีที่เคยมีบุตรที่มีความผิดปกติแต่กำเนิดของระบบประสาท เช่นภาวะไม่มีกะโหลกศีรษะมีเนื้องงอกของไขสันหลัง เป็นต้นนั้น ควรได้รับการป้องกันโดยการกินกรดโฟลิกในขนาดสูง (4มิลลิกรัมต่อวัน) ตั้งแต่ก่อนมีการตั้งครรภ์และให้ได้รับต่อไปอีกในระยะ 3 เดือนของการตั้งครรภ์ได้ โดยทั่วไปแล้ว ความต้องการกรดโฟลิกในผู้ใหญ่ต้องการเพียงเล็กน้อยต่อวันคือ วันละ 150 ไมโครกรัม ถ้าเป็นสตรีในระยะตั้งครรภ์ปกติจะต้องการวันละ 500 ไมโครกรัม ในระยะให้นมบุตรต้องการวันละ 250 ไมโครกรัม แหล่งอาหารที่มีกรดโฟลิกมากก็คือ พวกผักที่มีใบเขียวจัด ๆ เครื่องในสัตว์ ผักที่เรากินราก เมล็ดพืช หอยนางรม ปลาแซลมอน และนม ซึ่งอาหารเหล่านี้ (ยกเว้นปลาแซลมอน) สามารถหามารับประทานได้ง่ายดายครับ ส่วนเรื่องการแพ้ท้องนั้น เป็นเรื่องปกติของสตรีตั้งครรภ์ส่วนใหญ่ คือ ร้อยละ 60 - 80 ที่มีอาการในระยะ 3 เดือนแรก แล้วมักจะค่อย ๆ หายไปเอง เมื่อตั้งครรภ์ตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป

การตั้งครรภ์ และสุขภาพ

การตั้งครรภ์และสุขภาพ

สำหรับผู้หญิง :
รับประทานอาหารอย่างสมดุล - การขาดสารอาหารที่จำเป็นทำให้ร่างกายและระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ไม่ควรจำกัดอาหาร หลีกเลี่ยงอาหารที่มีวิตามินเอสูง เพราะจะเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับวิตามินดีเพิ่มมากขึ้นเพื่อช่วยในการดูดซึมแคลเซี่ยมในร่างกาย
ออกกำลังกายพอประมาณ - เราแนะนำให้คุณออกกำลังกายโดยการเดินเร็วๆ การออกกำลังกายที่เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแผ่นหลัง ก้น กล้ามเนื้อท้องและอุ้งเชิงกราน ให้หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่หักโหมและเสี่ยงอันตรายหรือที่แพทย์ห้าม
ดื่มน้ำมากๆ - ให้ดื่มน้ำสะอาด 10 – 12 แก้วต่อวัน ควรนำน้ำดื่มติดตัวไปด้วยในทุกที่เพื่อความสะดวกในการดื่มได้เมื่อต้องการ
หลีกเลี่ยงคาเฟอิน - พยายามจำกัดการดื่มกาแฟ หรือ ชา เหลือเพียง 2 – 3 ถ้วยต่อวัน จำไว้ว่ายังมีคาเฟอินใน เครื่องดื่มโคลาและช็อคโกแลตด้วย
งดสูบบุหรี่ - การสูบบุหรี่เป็นโทษต่อเนื่อง มีผลเสียต่อคู่ที่มีบุตรยากอยู่แล้ว ควรเลิกสูบบุหรี่
ลดการดื่มแอลกอฮอล์ - การดื่มแอลกอฮอล์จำนวนมาก เป็นอันตรายต่อมารดาและทารก ควรงดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หากจำเป็นต้องดื่ม ควรเป็นไวน์หรือเบียร์ไม่เกิน 2 แก้วต่อวัน อ่านเพิ่มใน Read Prof Jansen's thoughts on alcohol and fertility.
อาหารเสริม -การใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง หากมีอาการปวดหรือมีไข้ ควรเลือกรับประทานยาพาราเซตามอล และหลีกเลี่ยงยาที่มีส่วนผสมของแอสไพริน เพราะอาจทำให้มีเลือดออกผิดปกติได้ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งหากต้องใช้ยาปฏิชีวนะ
ป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อ -รับประทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ไข่ และ ปลา ที่ทำสุก สะอาด ควรอุ่นอาหารให้ร้อนก่อนรับประทานทุกครั้ง หลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ รวมทั้ง ซอร์ฟชีส อาหารที่มีไข่ดิบเป็นส่วนประกอบ มายองเนสบางชนิด ล้างผัก ผลไม้ให้สะอาด หากจะทำงานสวนต้องสวมถุงมือ หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับมูลสัตว์เลี้ยงทุกชนิด การสัมผัสแมวเพียงเล็กน้อยก็สามารถทำให้ติดเชื้อท๊อกโซพลาสโมซีส และต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังจากสัมผัสสัตว์เลี้ยง
สารเคมี -หลีกเลี่ยงสารเคมี ไม่อยู่ใกล้บริเวณที่มีการทาสี และสารละลายต่างๆ ไม่ควรตกแต่งบ้านในช่วงที่ตั้งครรภ์
ความร้อน - การอบซาวน่าและสปาแม้จะช่วยให้ร่างกายเกิดการผ่อนคลายแต่อาจทำให้ได้รับความร้อนมากเกินไป ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ
ผ่อนคลาย - งานอดิเรกและการทำสมาธิ ช่วยลดความเครียดได้


รับประทานโฟลิก แอซิด -เพื่อส่งเสริมการเจริญของเซลล์ในระยะ 2 – 3 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ ลดอุบัติการณ์การเกิดความผิดปกติของระบบประสาทสันหลังของทารกในครรภ์ เช่น spina bifida เราแนะนำให้รับประทานโฟลิก แอซิด (folic acid) ขนาด 500 ไมโครกรัม วันละ 2 เม็ด เป็นเวลาอย่างน้อย 1 เดือนก่อนทำการย้ายกลับตัวอ่อน และรับประทานต่อเนื่องไปจนกระทั่งอายุครรภ์ 12 สัปดาห์

ควบคุมอาหาร

คำแนะนำทั่วไปเพื่อช่วยควบคุมอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพเคล็ดลับสำคัญเหล่านี้จะช่วยให้คุณประสบความสำเร็จในการควบคุมอาหารอย่างมีสุขภาพพลานามัยแข็งแรงสมบูรณ์

1.รับประทานอาหารเพื่อควบคุมน้ำหนักอย่างสมดุลวิธีที่ง่ายที่สุดเพื่อให้แน่ใจว่าคุณควบคุมอาหารได้อย่างสมดุลและมีโภชนาการคือการเลือกรับประทานอาหารตามหมวดหมู่

2.รับประทานอาหารที่มีโภชนาการสามมื้อหรือมากกว่านั้นในแต่ละวัน และไม่ควรงดอาหารเช้า-ในขณะที่คุณกำลังเตรียมตัวเพื่อตั้งครรภ์ คุณสามารถรับประทานอาหารได้วันละ 3 มื้อ-เมื่อคุณตั้งครรภ์ คุณอาจอยากรับประทานอาหารมากกว่าปกติ เพราะคุณต้องการพลังงานและแคลอรีเป็นจำนวนมากและต้องการบำรุงร่างกายเป็นอย่างมาก การรับประทานอาหารวันละ 3 มื้อตามปกติ และของว่างเบาๆ สัก 2-3 มื้อ อาจช่วยให้คุณหายหงุดหงิดจากการหิวได้-ไม่ควรงดมื้อใดมื้อหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมื้อเช้า

3.จำกัดอาหารจำพวกที่มีแคลอรีสูง ไขมันมาก หรือน้ำตาลเยอะหากคุณน้ำหนักเกินก่อนตั้งครรภ์ หรือเริ่มมีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้นในขณะตั้งครรภ์ คุณควรจำกัดอากหารที่เต็มไปด้วยน้ำตาลหรือไขมัน (เช่นอาหารที่เป็นของทอดด้วยน้ำมันทั้งหลาย หรือมีส่วนประกอบของน้ำมันผสมอยู่) อาทิ-อาหารมื้อหลัก – ของทอด อาหารที่มีมันเยิ้ม ข้ามมันต่างๆ เนื้อ ผัดผักในน้ำมัน เนื้อย่างติดมัน เนื้อปลาและก๋วยเตี๋ยวผัด-ของว่างและเครื่องดื่ม –มันฝรั่งทอด ช็อคโกแล็ต เค้ก ถั่ว น้ำอัดลม เหล้าหวานการเลือกปรุงอาหารควรใช้น้ำมันและน้ำตาลให้น้อยที่สุด เพื่อความสมดุลของโภชนาการที่ปราศจากไขมัน น้ำตาลและแคลอรีมากเกินความจำเป็น

โภชนาการก่อนตั้งครรภ์

โภชนาการที่เป็นประโยชน์ซึ่งควรใส่ใจก่อนตั้งครรภ์เพื่อเพิ่มความสมดุลในการควบคุมอาหหารและน้ำหนักเพื่อสุขภาพ คุณแม่ควรใส่ใจเป็นพิเศษเกี่ยวกับกรดโฟลิกและธาตุเหล็กซึ่งเป็นโภชนาการที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งซึ่งช่วยพัฒนาการเจริญเติบโตให้มีสุขภาพพลานามัยแข็งแรงสมบูรณ์และเสริมพัฒนาการของทารกในเดือนแรกของการตั้งครรภ์กรดโฟลิก (โฟเลต)- เมื่อคุณวางแผนและเตรียมตัวที่จะตั้งครรภ์ สำคัญอย่างยิ่งที่คุณควรจะรับประทานวิตามินบีให้เพียงพอ เพื่อช่วยส่งเสริมการสร้างเม็ดเลือดแดงและช่วยพัฒนาการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์-การได้รับกรดโฟลิกไม่เพียงพอ เป็นสาเหตุของหลอดประสาทบกพร่องของทารกแรกเกิด ภายในเดือนแรกของการตั้งครรภ์เพิ่มปริมาณโฟเลตได้จากอาหารเหล่านี้
ประเภทอาหาร กรดโฟลิก (ไมโครกรัม) ตับ 50 กรัม 250 ผักใบเขียว (ผักขม)ปรุงสุก ครึ่งถ้วย 130 อาหารเช้าจำพวกธัญญาหาร ธัญพืช 1 ถ้วย 100 ส้มผลขนาดกลาง 1 ผล 40

เกณฑ์แนะนำเพื่อควบคุมอาหารให้ได้รับกรดโฟลิก (1989) ระยะเวลา เกณฑ์แนะนำเพื่อควบคุมอาหารให้ได้รับกรดโฟลิก(มก./วัน) ก่อนตั้งครรภ์ 400 ในระหว่างตั้งครรภ์ 200 ธาตุเหล็ก-การควบคุมอาหารก่อนตั้งครรภ์จะช่วยให้ได้รับธาตุเหล็กในปริมาณที่เหมาะสม และช่วยให้คุณแม่อุ่นใจได้ว่าได้รับธาตุเหล็กในปริมาณที่เพียงพอ และทารกในครรภ์ของคุณสะสมธาตุเหล็กไว้เพียงพอจนถึงช่วง4 – 6 เดือน

เมื่อแรกเริ่มชีวิต เพื่อลดอัตราการเสี่ยงการขาดแคลนธาตุเหล็ก หรือเสี่ยงต่อแนวโน้มในการเป็นโรคโลหิตจาง-อาหารทั่วไปมักมีส่วนประกอบของธาตุเหล็กทั้งที่ก่อให้เกิดสารย้อมสีเข้มที่ได้จากฮีโมโกลบินและไม่ได้ก่อให้เกิดสารฯ ดังกล่าว เราจะพบธาตุเหล็กที่มีสารฯ ดังกล่าวได้ในเนื้อเยื่อของสัตว์ ตับ ปลา และ เป็ด ไก่ ซึ่งเมื่อเราบริโภคเข้าไป 5-10 ครั้ง ก็จะซึมซับได้ดีกว่าธาตุเหล็กที่ปราศจากสารดังกล่าว ซึ่งมักพบในข้าว ผัก อาหารจำพวกไข่และนมต่างๆเพิ่มปริมาณธาตุเหล็กได้จากอาหารเหล่านี้ ประเภทอาหาร ธาตุเหล็ก (มก.) เนื้อวัว 100 กรัม 2.9 ปลา 100 กรัม 2.7 ตับ 50 กรัม 2.7 น่องไก่ 1ขา 1.3 ไข่ฟองขาดกลาง 1.0 ผักใบเขียวปรุงสุก (เช่นบร็อคโคลี่) 2/3 ถ้วย 0.8

เกณฑ์แนะนำเพื่อควบคุมอาหารให้ได้รับธาตุเหล็ก ระยะเวลา เกณฑ์แนะนำเพื่อควบคุมอาหารให้ได้รับธาตุเหล็ก(มก./วัน) ก่อนตั้งครรภ์ 24.7 ในระหว่างตั้งครรภ์ ควรได้รับยาเม็ดธาตุเหล็กเสริมวันละ60มิลลิกรัม วิตามินซี- ควรเพิ่มอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินซีในทุกๆ มื้อ เพื่อเพิ่มการดูดซึมธาตุเหล็กจากอาหารมื้อปกติ วิตามินซีพบมากในผลไม้ เช่นฝรั่ง มะละกอ มะม่วงและผัก เช่นมะเขือเทศ พริกเพิ่มปริมาณวิตามินซีได้จากอาหารเหล่านี้ ประเภทอาหาร วิตามินซี (มก.) ฝรั่งขนาดใหญ่ครึ่งผล 152 ผลกีวีขนาดใหญ่ 1 ผล 80 ส้มขนาดกลาง 1 ผล 60 มะเขือเทศขนาดกลาง 1 ผล 24 เกณฑ์แนะนำเพื่อควบคุมอาหารให้ได้รับวิตามินซี ระยะเวลา เกณฑ์แนะนำเพื่อควบคุมอาหารให้ได้รับวิตามินซี(มก./วัน) ก่อนตั้งครรภ์ 75 ในระหว่างตั้งครรภ์ 10

ข้อมูลจาก

http://www.youngnutrition.net

การตรวจหลังคลอด

การตรวจหลังคลอดหลังจากที่การคลอดเสร็จสิ้นผ่านพ้นไปได้ด้วยดีแล้ว โดยทั่วไปคุณหมอก็จะให้คุณนอนพักในโรงพยาบาล จนแข็งแรงดีทั้งแม่และลูกแล้วจึงอนุญาตให้กลับไปพักต่อที่บ้านได้ ก่อนกลับนั้นคุณหมอจะนัดคุณแม่ตรวจอีกครั้ง หลังจากคลอดประมาณ 4-6 สัปดาห์ คุณแม่อาจมีความสงสัยถึงความจำเป็นของการตรวจดังกล่าว รู้สึกว่าพอคลอดแล้วก็กลับมาแข็งแรงดีนี่นา ทำไมต้องมาตรวจอะไรกันอีก หลายท่านก็เลยไม่สนใจกับนัดดังกล่าว แล้วไม่มาเสียอย่างนั้น จริงๆ แล้ว เป็นความเข้าใจที่ผิดนะครับ การตรวจหลังคลอดนั้นมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งทีเดียว เพราะระหว่างตั้งครรภ์นั้น จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายเกี่ยวกับร่างกายของคุณแม่ ซึ่งพอคลอดแล้วก็จะต้องใช้เวลาสักหน่อยกว่าที่ทุกอย่างจะกลับเข้าที่เข้าทางเหมือนเดิมครับ การตรวจหลังคลอดนั้นจะเป็นการตรวจเพื่อให้แน่ใจว่าทุกอย่างนั้นกลับเป็นปกติแล้วนั่นเอง การตรวจก็จะประกอบด้วย การตรวจร่างกายทั่วไปตามความจำเป็น และการตรวจภายในครับ การตรวจภายในนั้น นอกจากจะตรวจมดลูกว่ากลับเป็นปกติ หรือ “เข้าอู่” แล้วหรือไม่ นอกจากนั้นก็เป็นโอกาสอันดีสำหรับคุณผู้หญิงทุกท่านอีกด้วยที่จะได้ตรวจหาความผิดปกติอื่นๆ อีกด้วย โดยเฉพาะการตรวจเช็กมะเร็งปากมดลูกครับ ถ้าอยู่เฉยๆ ให้มาตรวจเองก็รอไปเถิดครับ นอกจากนั้นก็ยังเป็นจังหวะที่ดีอีกด้วยที่จะเริ่มต้นการคุมกำเนิดที่เหมาะสมครับ [ ที่มา.. นิตยสารรักลูก ปีที่ 21 ฉบับที่ 247 สิงหาคม 2546 ]

สารอาหาร กรดโฟลิก

กรดโฟลิก กินแค่ไหนจึงจะพอแม่กลุ่มทั่วไป คือกลุ่มที่ไม่เคยมีประวัติว่าลูกหรือญาติมีความพิการแต่กำเนิด เมื่อตั้งครรภ์กรดโฟลิกในตัวแม่จะลดลง เนื่องจากถูกดึงไปใช้ในการสร้างตัวอ่อน ดังนั้นควรได้รับอย่างน้อยวันละ 400 ไมโครกรัม (0.04 มิลลิกรัม) จึงจะช่วยลดอุบัติการณ์ความพิการแต่กำเนิดได้มากกว่า 50% แต่ถ้าไม่ได้รับกรดโฟลิกก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดความพิการแต่กำเนิดมากกว่า 50% เช่นกันแม่ในกลุ่มเสี่ยง คือกลุ่มที่มีประวัติว่าลูกหรือญาติเคยมีความพิการเกิดขึ้นอย่างชัดเจน เช่น ความพิการของกะโหลก ระบบประสาทส่วนกลาง สมองพิการแต่กำเนิด โรคปากแหว่งเพดานโหว่ หรือแม่เป็นโรคโลหิตจาง เป็นต้น
แม่กลุ่มนี้จะต้องได้รับกรดโฟลิกเพิ่มเป็นวันละประมาณ 40,000 ไมโครกรัม (4 มิลลิกรัม) คือมากกว่าแม่กลุ่มปกติประมาณ 100 เท่าค่ะกรดโฟลิก หาง่าย & สูญสลายง่ายหาง่าย บ้านเรามีอาหารที่มีกรดโฟลิกให้เลือกมากมาย เพราะมีอยู่ในผักใบเขียวเกือบทุกชนิด เช่น คะน้า กะหล่ำปลี ปวยเล้ง ผักกาดหอม หน่อไม้ฝรั่ง บล็อกโคลี ถั่วลันเตา ธัญพืชต่างๆ ผลไม้ตระกูลส้ม ที่สำคัญหากได้รับกรดโฟลิกแบบครบคุณค่าควรกินแบบสดๆ หรือถ้าจะลวกก็ต้องทำด้วยความรวดเร็วค่ะสูญสลายง่ายการปรุงอาหารที่ต้องใช้ความร้อนนานๆ จะทำให้กรดโฟลิกสูญสลายได้ง่ายหากมีอาการตัวร้อนและเป็นไข้หลายวัน ด้วยอุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นทำให้ระดับกรดโฟลิกในร่างกายลดลงได้เช่นกันการได้รับยารักษาโรคลมชัก คนที่เป็นโรคลมชักและต้องกินยาเป็นประจำ ยาตัวนี้จะเข้าไปต่อต้านการสร้างโปรตีนและลดการดูดซึมของกรดโฟลิก ดังนั้น คุณแม่ที่มีภาวะลมชักอยู่จะต้องกินโฟลิกให้มากขึ้นประมาณ 10 เท่าจากที่กินอยู่เดิมค่ะ การวางแผนกินกรดโฟลิกก่อนตั้งครรภ์ 1-3 เดือน เป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนคุ้มค่า และคุ้มเวลาแห่งการรอคอยของคนเป็นแม่แน่นอนค่ะ

[ที่มา: นิตยสาร รักลูก ฉบับที่ 299 เดือนธันวาคม พ.ศ.2550]

อาหารก่อนและระหว่างตั้งครรภ์

ในปัจจุบัน แต่ละครอบครัวจะมีลูกก็เพียง 1 หรือ 2 คนเท่านั้น ลูกที่เกิดมาจึงควรมีความสมบูรณ์ที่สุด เพื่อที่จะเป็นที่พึ่งของพ่อและแม่ในการสืบทอดตระกูล หรือสืบทอดธุรกิจต่อไปในภายภาคหน้า

ความรู้ในปัจจุบันทำให้ทราบว่า ความสมบูรณ์ทั้งของพ่อและแม่ก่อนตั้งครรภ์ มีส่วนที่ทำให้ลูกในครรภ์มีความสมบูรณ์อย่างเต็มที่ ก่อนจะเป็นพ่อ ฝ่ายชายจึงควรดูแลสุขภาพของตนเองให้ดี ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ในทางร่างกาย ควรมีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอร่วมกับการรับประทานอาหารที่หลากหลาย ครอบคลุมทั้ง ข้าว นม เนื้อสัตว์ ผัก และอาหารทะเล เป็นประจำ และเมื่อมีการพักผ่อนที่เพียงพอร่วมด้วย ก็จะมั่นใจได้ว่า สเปิร์มของฝ่ายชายจะสมบูรณ์อย่างเต็มที่


สำหรับฝ่ายหญิงเพื่อการเตรียมตัวเป็นแม่ที่สมบูรณ์ ควรมีการพักผ่อนและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเช่นกัน อาจจะเลือกการว่ายน้ำ หรือการเดินรอบสวน วันละ 1/2 -1 ชั่วโมง ก็จะทำให้ร่างกายและมดลูกแข็งแรง พร้อมที่จะให้เป็นที่อยู่ของลูกในครรภ์ตลอดการตั้งครรภ์ 9 เดือน โดยมีการรับประทานอาหารที่ครบทุกหมู่เช่นกัน โดยเฉพาะผักใบเขียว เช่น คะน้า ควรรับประทานอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ผักคะน้ามีคุณสมบัติที่โดดเด่นกว่าผักชนิดอื่นตรงที่มี แคลเซียม วิตามินซี กรดโฟลิก และกากใยอาหารสูง

โดยเฉพาะกรดโฟลิกนั้น มีความจำเป็นอย่างมากในกรณีที่ไข่ที่ถูกผสมจะมีการสร้างเซลล์ประสาทและเซลล์สมอง ประมาณวันที่ 10 หลังจากนั้น ซึ่งจำเป็นต้องมีกรดโฟลิกที่เพียงพอที่จะทำให้การสร้างนี้สมบูรณ์ โดยระยะที่สร้างระบบสมองและเซลล์ประสาทนี้จะเป็นช่วงที่ฝ่ายหญิงยังไม่รู้ตัวว่าท้อง จึงมักจะไม่ได้รับยาบำรุงครรภ์ การเตรียมพร้อมโดยมีกรดโฟลิกเต็มที่ก่อนการตั้งครรภ์จึงมีความจำเป็นที่สุด

ภาพรวมสุขภาพของฝ่ายหญิงก่อนตั้งครรภ์ก็มีส่วนช่วยให้ลูกในครรภ์มีความสมบูรณ์เช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องน้ำหนักตัวไม่ควรจะมากไปหรือน้อยเกินไป เพราะในขณะนี้ หุ่นที่เป็นที่นิยมของหญิงสาวนั้นมักจะมีน้ำหนักตัวน้อยเกินไป ในกลุ่มดาราหรือนางแบบที่เราเรียกว่าหุ่นดีนั้น ทางการแพทย์ประเมินแล้วพบว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ขาดอาหาร ซึ่งมีผลเสีย คือ มดลูกมักจะไม่แข็งแรง มีโอกาสแท้งหรือคลอดก่อนกำหนดได้ง่าย และมีส่วนทำให้ทารกที่คลอดออกมาไม่ค่อยแข็งแรง ในอีกซีกหนึ่ง ถ้ามีน้ำหนักตัวมากเกินไปก็อาจจะทำให้รังไข่ไม่สมบูรณ์ได้เช่นกัน ซึ่งอาจจะส่งผลให้มีบุตรยากหรือทำให้แท้งลูกในขณะตั้งครรภ์อ่อนๆ ได้ง่าย จึงควรดูแลน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์พอดีก่อนจะตั้งครรภ์ นอกเหนือจากการรับประทานอาหารให้ครบหมู่อย่างสม่ำเสมอตามที่กล่าวมาข้างต้น

ใน 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ หญิงมีครรภ์มักจะแพ้ท้องมากบ้าง น้อยบ้างทำให้รับประทานอาหารได้น้อยและอาจไม่ครบทุกชนิด จึงช่วยตอกย้ำอีกครั้งถึงความจำเป็นที่ร่างกายจะต้องสมบูรณ์ก่อนจะมีครรภ์ และไม่ต้องกังวลว่าทารกในครรภ์จะขาดอาหาร เพราะในช่วง 3 เดือนแรกนั้น ทารกมีความต้องการของสารอาหารไม่มาก แต่ขอให้มีครบทุกชนิด จึงนำสารอาหารที่มาจากตัวแม่ได้ เพราะใช้เพียงเล็กน้อย ในช่วง 3 เดือนแรกนี้ หญิงมีครรภ์จึงควรประคับประคองการรับประทานให้ครบหมู่ไปจนกว่าจะเลิกการแพ้ท้อง โดยที่น้ำหนักตัวอาจจะเพิ่มขึ้นเพียง 1-3 กิโลกรัมก็ได้

ใน 3 เดือนที่สองหรือการตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 12-24 นั้น ทารกในครรภ์มีความจำเป็นต้องได้รับสารอาหารต่างๆ มากขึ้น โดยเฉพาะวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ หญิงมีครรภ์จึงควรรับประทานอาหารที่หลากหลาย ครบทุกหมู่ เพื่อเป็นการเข้าใจง่าย จึงอยากจะสรุปว่า ในแต่ละวันควรดื่มนมวัวอย่างน้อยวันละ 2 แก้ว โดยไม่จำเป็นต้องเป็นนมที่มีกรดโฟลิกสูงก็ได้ ควรมีผัก เนื้อสัตว์ ผลไม้ และข้าว ครบ 3 มื้อ และเมื่อครบสัปดาห์ที่ 24 ของการตั้งครรภ์ ควรมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมาประมาณ 5-8 กิโลกรัม

ใน 3 เดือนสุดท้ายหรือช่วงการตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 25-40 นั้น เป็นช่วงที่ทารกในครรภ์ต้องการสารอาหารต่างๆ รวมทั้งพลังงานจากอาหารมากที่สุด ช่วงนี้เป็นช่วงการสร้างขนาดตัว จึงมีความจำเป็นที่ทารกจะต้องได้รับ แป้ง โปรตีน และไขมัน ที่มากกว่าช่วง 6 เดือนแรก หญิงมีครรภ์ในช่วงนี้จึงควรเพิ่มปริมาณข้าว เนื้อสัตว์ และน้ำมันจากอาหารมากกว่าปกติ และควรจะเพิ่มการดื่มนมเป็นวันละ 3 แก้วในช่วงสุดท้ายนี้ด้วย เมื่อเพิ่มการรับประทานตามหลักเกณฑ์นี้ ในเดือนที่ 7 และ 8 ควรมีน้ำหนักตัวขึ้นมาประมาณ 3 กิโลกรัม และเดือนที่ 9 ควรเพิ่มขึ้นประมาณ 4 กิโลกรัม โดยสรุป 3 เดือนสุดท้าย ควรมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 10-12 กิโลกรัม

จะเห็นได้ว่า เพื่อความสมบูรณ์ของทารกในครรภ์ จึงควรเตรียมตัวทางด้านสุขภาพของทั้งฝ่ายสามีและภรรยา มีการออกกำลังกาย การพักผ่อนที่เพียงพอ ร่วมกับการรับประทานอาหารที่มีสารอาหารต่างๆ ครบถ้วน โดยเฉพาะในช่วงการตั้งครรภ์ การรับประทานอาหารที่มากขึ้นนั้นควรมีการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัวอย่างพอดี ตามระยะเวลาการตั้งครรภ์และตามความต้องการของทารกในครรภ์ เพื่อที่จะให้ทารกที่คลอดออกมาสมบูรณ์พร้อมในทุกๆ ด้านขอขอบคุณข้อมูลจาก

อาหารก่อนตั้งครรภ์

แพทย์แนะแม่กินผักสดก่อนตั้งครรภ์เพิ่มความฉลาดให้ลูก
กุมารแพทย์ ศิริราชพยาบาลแนะพ่อแม่เตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการมีลูก โดยเฉพาะฝ่ายหญิงต้องรับประทานผักสด ซึ่งอุดมด้วยโฟเลท ก่อนที่จะตั้งครรภ์ สารนี้ช่วยในการสร้างเซลล์สมองลูกน้อย ในครรภ์ช่วงอายุครรภ์ได้ ๔-๖ สัปดาห์ หากรับประทานเมื่อรู้ตัวว่าตั้งครรภ์ อาจสายเกินไป ยืนยันนมแม่เป็นอาหารที่วิเศษสุดสำหรับทารก ให้ลูกกินอาหารเสริมข้าวผสมฟักทอง ตับ ไข่แดงเมื่ออายุได้ ๓-๔ เดือน ศ.น.พ.พิภพ จิรภิญโญ กุมารแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า ก่อนตั้งครรภ์ ทั้งสามีภรรยาควรเตรียมร่างกายให้พร้อม ฝ่ายชายลดละเลิกอบายมุขออกกำลังกายเพื่อให้สเปิร์มแข็งแรง ส่วนฝ่ายหญิงควรดูแลร่างกายให้สมบูรณ์เต็มที่ ออกกำลังกาย รับประทานอาหารครบ ๕ หมู่โดยเฉพาะผักสด ซึ่งมีวิตามินโฟเลท ที่จำเป็นต่อการมีการเจริญเติบโตของสมองช่วงตัวอ่อนอายุได้ ๔-๖ สัปดาห์ ไม่ใช่ว่าพอรู้ว่าตั้งครรภ์ค่อยมากินผักให้มาก ๆ ขณะตั้งครรภ์ควรฝากครรภ์กับแพทย์เพื่อติดตามพัฒนาการ น้ำหนักเพิ่มมากน้อยอย่างไรอาหารที่แม่รับประทานผ่านสายรกไปเลี้ยงทารก หากแม่ได้รับอาหารไม่เพียงพอจึงส่งผลถึงลุกด้วย เด็กที่คลอดออกมาน้ำหนักน้อยกว่า ๒,๐๐๐ กรัม จะมีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน หัวใจ ความดันโลหิตสูง “พ่อแม่อ้วนลูกจะได้รับยีนอ้วน พ่อแม่เครียดลูกจะได้รับยีนเครียดมาด้วย แม่ที่ตั้งครรภ์ กินอาหารให้ครบหมู่อย่างหลากหลายก็พอแล้ว อย่าเอาอาหารเสริมอื่นมาบำรุงร่างกายสูญเสียเงินทอง กินอาหารธรรมชาติเพียงพอแล้ว พอคลอด ให้เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่ อาหารดีแค่ไหนไม่สามารถชดเชยนมแม่ การที่ลูกกินนมแม่ทำให้รูปร่างกลับคืนปกติเร็ว เต้านมผู้หญิงจะเปล่งปลั่งหลังคลอด นมแม่สะอาดปลอดภัย ไม่ต้องแช่ตู้เย็น ไม่ต้องอุ่นเหมือนนมวัว ลูกไม่กินไม่ต้องทิ้งเพราะเก็บไว้ในเต้าได้” ศ.น.พ.พิภพ กล่าว ศ.น.พ.พิภพ กล่าวว่า พบเด็กที่ดื่มนมวัวบางคนร้องไห้แบบโคลิก ซึ่งร้อยละ ๗๐ หายจากอาการนี้เมื่อเลิกดื่มนมวัว โดยให้ดื่มนมถั่วแทน นอกจากนั้น ข้อดีของนมแม่ยังช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย มีน้ำตาลแลกโตสทำให้อุจจาระนุ่ม หวั่นพ่อแม่สมัยนี้เห่อตามแรงโฆษณา ติดยึดกับข้าวของราคาแพงเพราะเชื่อว่ามีคุณภาพดี ส่วนกรณีที่ทารกไม่สามารถดื่มนมแม่ได้ ศ.น.พ.พิภพ กล่าวว่า มีทางเลือกคือการเลี้ยงด้วยนมดัดแปลงสำหรับเลี้ยงทารก วิธีเลือกซื้อให้ซื้อยี่ห้อที่ราคาถูกที่สุด ไม่ต้องเลือกราคาแพงมาก พิจารณาปริมาณกับราคา เพื่อความประหยัด เพราะทารกอายุ ๒-๓ เดือนได้สารอาหารจากอาหารที่เติมลงไป เช่น ฟักทอง ตับ ไข่แดง ส่วนนมสูตรต่อเนื่อง เมื่อทารกอายุ ๖ เดือน ไม่ต้องเปลี่ยนก็ได้ถ้ามีราคาแพงกว่านมสำหรับทารก แต่ถ้าราคาถูกก็เปลี่ยนนมได้ พอลูกอายุ ๑ ขวบเด็กกินนมได้ทุกยี่ห้อ แนะให้ซื้อนมผงมาชงจะถูกกว่านมกล่องยูเอชที นมป้องกันโรคภูมิแพ้ ถ้าลูกไม่เกิดการแพ้ไม่ต้องให้กินเพราะราคาแพง “ เวลาให้อาหารเสริมทารกช่วงอายุ ๓-๔ เดือน เด็กบางคนไม่กินใช้ลิ้นดันออกทิ้ง เพราะเวลาดูดนมแม่เขาใช้ลิ้นดันหัวนมก่อนแล้วค่อยรีดกลับมาดูด พอกินข้าวหรืออาหารอื่นก็ใช้วิธีเดียวกัน พ่อแม่บางคนใจเสียเห็นลุกร้องไม่กิน อย่าเลิกป้อนข้าว ให้ป้อนน้ำข้าวก่อนพอเด็กใช้ลิ้นดันข้าวส่วนที่เป็นน้ำจะไหลลงกระพุ้งแก้ม เด็กจะกินได้ พยายามเติมฟักทอง ตับ ไข่แดง ค่อย ๆ เติมผักต้ม เด็กจะได้อาหารครบถ้วน” ส่วนกรณีที่เด็กมีปัญหาเบื่อนม อย่าให้ลูกดูดน้ำเปล่าแล้วตามด้วยนม เพราะเด็กจะดูดแต่น้ำเนื่องจากลื่นคอ ดูดง่าย การเลี้ยงลูกไม่ต้องมีขวดน้ำ ให้ใช้ช้อนสะอาดตักน้ำป้อน เมื่อถึงอายุ ๔-๕ เดือนให้งดนมมื้อกลางคืน พอตื่นเช้ามาให้กินข้าวผสมอาหารเสริม แก้ปัญหาเด็กไม่กินอาหารเสริม กลางคืนเด็กยิ่งนอนนาน น้ำตาลในเลือดต่ำ ทำให้ฮอร์โมนเจริญเติบโตหลั่งออกมามาก เด็กเจริญเติบโตเร็ว ศ.น.พ.พิภพ ย้ำว่า ช่วงทารกอายุ ๓-๔ เดือน ให้ฝึกลูกรับประทานอาหารเสริม อย่าท้อถอย บ้านที่ให้อาหารเสริมไม่สำเร็จ เพราะมีคนแนะนำมาก ปู่ย่าสงสารหลาน ถ้าไม่กินอาหาร ปล่อยให้หิว เด็กจะกินอาหารเสริมเอง ซึ่งลูกของตนก็เหมือนกัน ปล่อยให้หิวเมื่อถึงเวลาเขาก็กินอาหารเอง ประการสำคัญต้องใจแข็ง ภาวะร่างกายเด็กจะทนการขาดอาหารได้ ๒ สัปดาห์หลังจากนั้นจะกลับมากินอาหาร พอถึงอายุ ๒ ขวบเลิกกินนมขวด การเลี้ยงลูกต้องให้ความรัก มีขอบเขต ให้เขาเติบโตตามอายุ พ่อแม่มีจิตใจดีงาม ถ้าพ่อแม่เครียดมีแนวโน้มจะระบายความเครียดลงที่เด็ก